|
|
|
|
:: สถิติผู้เข้าชมเว็บไซต์ :: |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
อาการใจสั่น
(Palpitation) 心悸(xin ji)
|
คุณเคยมีอาการอย่างนี้หรือไม่ : นั่งอยู่เฉย ๆ หรือทำกิจกรรมอื่นอยู่ดี ๆ มีอาการใจเต้นสั่นไม่เป็นจังหวะ ในบางครั้งก็เกิดความรู้สึกเจ็บหน้าอกขึ้นมา
อาการดังกล่าวเรียกว่าอาการใจสั่น โดยนิยามของอาการใจสั่นจะกล่าวว่า อาการใจสั่นเป็นอาการความรู้สึกของผู้ป่วยที่รู้สึกว่าหัวใจเต้นไม่เป็นปกติ
การเต้นของหัวใจขาดหายไป เต้นไม่เป็นจังหวะ เต้นไม่สม่ำเสมอ
หรือเต้นเร็วกว่าปกติ ซึ่งอาการใจสั่นมีมากมากหลายสาเหตุ
|
|
|
ลักษณะอาการใจสั่น
1.อาการใจเต้นเร็ว อาการเบื้องต้นของผู้ที่มีอาการใจสั่นมักจะมีอาการใจเต้นเร็วกว่าปกติ โดยจะมีอาการเป็นระยะ ไม่ได้เป็นตลอดเวลา โดยมากอาการจะเกิดช่วงเวลาที่เกิดความเครียดมาก ๆ หรือเกิดการเคลื่อนไหวรวดเร็วแบบทันที โดยมากอาการดังกล่าวจะเกิดเป็นระยะเวลาไม่นานส่วนมากจะเกิดประมาณ 5 - 10 วินาที แล้วก็หาย ยกเว้นในบางรายที่มีอาการขั้นรุนแรงอาการดังกล่าวอาจจะเกิดขึ้นนานกว่าปกติ
2.อาการหัวใจเต้นไม่ครบจังหวะ ในผู้ป่วยที่มีอาการใจสั่น มักจะมีอาการหัวใจเต้นไม่ครบจังหวะ ซึ่งอาการดังกล่าวจะมีลักษณะเหมือนกับหัวใจหยุดเต้นไปช่วงเวลาหนึ่ง อาจจะเป็นเวลาประมาณ 1 - 2 วินาที ซึ่งอาการดังกล่าวมักจะมีผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการเหมือนวูบไปชั่วขณะ บางรายอาจมีเหงื่อออกตามมาด้วย
3.อาการเจ็บแน่นหน้าอก ในผู้ป่วยใจสั่นหลายคนมักจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกร่วมด้วย
4.หายใจหอบ ผู้ป่วยที่มีอาการใจสั่นหลายรายมักจะมีอาการหายใจหอบร่วมด้วย เพราะการที่เกิดอาการใจสั่นบ่อย ๆ จะทำให้ร่างกายเกิดอาการขาดความสมดุล
|
|
|
สาเหตุของอาการใจสั่น
อาการใจสั่นเกิดจากสาเหตุหลายประการ เช่น
1.เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวัน การใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการใจสั่นได้ เช่น
- นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ
- ออกกำลังกายที่ต้องใช้กำลังมากเกินไป
- รับประทานอาหารปริมาณมาก หรือมีรสเผ็ดจัด
- ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- สูบบุหรี่
2.เหตุปัจจัยทางด้านจิตใจและอารมณ์ อารมณ์ต่าง ๆ ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการใจสั่นได้ เช่น
- ความเครียด และความวิตกกังวล
- ความกลัว ความตื่นเต้น
- อาการตื่นตระหนก (Panic)
3.เหตุจากยารักษาโรค ในยารักษาโรคบางชนิดอาจมีผลข้างเคียงต่อระบบเลือด และหัวใจ จนเป็นเหตุให้เกิดอาการใจสั่นได้
4.การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในระหว่างที่มีประจำเดือนระหว่างตั้งครรภ์ หรือวัยหมดประจำเดือน
5.เกิดจากอาการผิดปกติในระบบหัวใจ ในผู้ป่วยที่มีอาการโรคเกี่ยวกับระบบหัวใจมักจะมีอาการใจสั่นร่วมด้วย
|
|
|
การวินิจฉัยเพื่อหาภาวะหัวใจเต้นผิดปกติทางแผนปัจจุบัน
1.การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: ECG) ช่วยตรวจการทำงานของหัวใจ เป็นการวินิจฉัยเบื้องต้นว่าผู้ป่วยมีโรคหัวใจหรือภาวะทางหัวใจอื่น ๆ หรือไม่
2.ใช้อุปกรณ์บันทึกจังหวะการเต้นของหัวใจ 24 ชั่วโมง (Holter Monitor) เป็นอุปกรณ์พกพาที่ใช้เพื่อบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งจะช่วยหาความผิดปกติจังหวะการเต้นของหัวใจและการทำงานของหัวใจตลอดทั้งวัน
3.การตรวจด้านสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ (Electrophysiology Study) เป็นการตรวจการทำงานของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อหาจุดกำเนิดของภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถพิจารณาได้ว่าควรใช้ยาหรือวิธีใดในการรักษา
|
|
|
อาการใจสั่นในมุมมองแพทย์แผนจีน
ใจสั่น ( 心悸:xin ji ) เป็นความรู้สึกที่ผู้ป่วยรู้สึกว่าหัวใจเต้นผิดปกติ โดยอาจจะมีอาการใจสั่นรัว ไม่สงบ จนไม่อาจควบคุมได้ ส่วนใหญ่จะมีอาการตอนกำเริบ ถ้าไม่กำเริบจะมีอาการเหมือนคนทั่วไป ทางแพทย์จีนเชื่อว่าอาการใจสั่น 心悸 มีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ หรือการตรากตรำมากเกินไป นอกจากนี้ยังมีอาการอื่นร่วมด้วยเช่น หายใจไม่สะดวก หายใจสั้น นอนไม่หลับ วิงเวียน หลงลืมเป็นต้น |
|
|
ขอบเขตของโรค
เนื่องจากเป็นแค่อาการจึงพบได้บ่อยในโรคของหัวใจ เช่นมีอัตราการเต้นหัวใจเร็วเกินไป ช้าเกินไป หรือผิดปกติ ลักษณะเด่นของอาการใจสั่น 心悸 ถ้ามีการกำเริบจึงมีอาการ ถ้ามากำเริบจะเหมือนปกติ เวลากำเริบผู้ป่วยจะรู้สึกใจหวิว ต่อมาใจเต้นรัว ควบคุมไม่ได้ ถ้าอาการเบาจะเกิดเป็นพักๆถ้าเป็นมากจะเป็นอย่างต่อเนื่อง และอาจมีอาการผิดปกติอื่นร่วมด้วย เช่น หายใจอึดอัด หายใจไม่อิ่ม ไม่มีแรง อ่อนเพลีย มึนงง หรือหอบ ถ้ารุนแรงอาจสลบไป ถ้าจับชีพจรจะมีลักษณะชีพจรเด่น เช่น ชีพจรสะดุด ชีพจรกระตุก เร็วหรือช้าไม่เป็นจังหวะ |
|
|
สาเหตุและกลไกการเกิดโรค
1.เสินไม่สงบ (Disturbance of the mind) (ชี่หัวใจและถุงน้ำดีพร่อง) คนขวัญอ่อน หรือคนที่ตกใจง่าย มักมีอาการใจสั่นเมื่อถูกทําให้ตกใจด้วยเสียงดัง สิ่งที่ไม่คาดหวัง หรือสภาวะแวดล้อมที่รู้สึกไม่ปลอดภัย คัมภีร์แพทย์จักรพรรดิหวังตี้ ภาคซูเหวิ่น บทที่ 19 กล่าวว่า “ความตกใจทําให้ชี่ไม่สงบเพราะหัวใจไม่มั่นคง หนักแน่น เสินจึงไม่มีที่ยึดเหนี่ยวและความคิดก็ไม่มีระเบียบระบบ” ปัจจัยอื่นที่ทําให้เกิดอาการใจสั่น ได้แก่ มีการสะสมของเสมหะร้อน อารมณ์เก็บกด และอารมณ์โกรธ กระเพาะอาหารทําหน้าที่แปรปรวน และไฟเสมหะเคลื่อนขึ้นบน
2.ชี่และเลือดพร่อง (Insufficiency of qi and blood) (หัวใจและม้ามพร่อง) ในคนที่เป็นโรคเรื้อรัง สภาพร่างกายอ่อนแอ เสียเลือด หรือคิดมาก มีผลให้เกิดการทําลายหัวใจและม้าม รวมทั้งขัดขวางการสร้างชี่ และเลือด ทำให้ชี่ และเลือดพร่อง ไม่สามารถหล่อเลี้ยงหัวใจได้เพียงพอ มีผลกระทบต่อเสิน จนเกิดอาการใจสั่น
3.ไฟกระทํามากเกินจากภาวะอินพร่อง - อินพร่องเกิดไฟ (Hyperactivity of fire due to yin deficiency) การทําลายอินไตจากการหมกมุ่นมีเพศสัมพันธ์มากเกิน หรือความอ่อนเพลียทรุดโทรมจากโรค ที่ป่วยมาเป็นเวลานาน ทําให้น้ำในไตไม่สามารถควบคุมไฟหัวใจได้ การทํางานไม่สอดประสานกันของหัวใจและไตร่วมกับการกําเริบของไฟ รบกวนต่อเสิน ทําให้เกิดอาการใจสั่น
4.ของเหลวที่อันตรายคั่งค้าง - ภาวะน้ำคั่งรบกวนหัวใจ (Retention of harmful fluid)
ของเหลวที่อันตรายคั่งค้างเกิดจาก หยางหัวใจลดลง หรือ การพร่องของหยางม้ามและไต กระทบถึงหัวใจทําให้เกิดอาการใจสั่น |
|
|
การวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการโรค
1.กลุ่มอาการเสินไม่สงบ
ลักษณะทางคลินิก : ใจสั่น หวาดกลัว ตื่นตกใจ กระสับกระส่าย กระวนกระวาย ฝันมาก จนรบกวนการนอน เบื่ออาหาร
ลักษณะลิ้น : ลิ้นซีด ฝ้าขาว หรือลิ้นแดง ฝ้าเหลืองเหนียว
ลักษณะชีพจร : ชีพจร จมช้า (Chen Xi Mai 沉 细脉) หรือลื่นเร็ว (Hua Su mai 滑数脉) ในรายที่เกิดจากเสมหะร้อน ลิ้นมีฝ้าสีเหลือง-เหนียว และชีพจรลื่น-เร็ว
2.กลุ่มอาการชี่และเลือดพร่อง
ลักษณะทางคลินิก : ใจสั่น ขี้กลัว ตกใจง่าย สีหน้าหมองคล้ำ มึนงง ตามัว หายใจตื้น อ่อนเพลีย
ลักษณะลิ้น : ลิ้นซีดมีรอยฟัน
ลักษณะชีพจร : ชีพจรอ่อนเล็กเหมือนเส้นด้าย หรือไม่สม่ำเสมอ 细弱或结代
3.กลุ่มอาการอินพร่องแล้วทำให้เกิดไฟ
ลักษณะทางคลินิก : ใจสั่น กระสับกระส่าย กระวนกระวาย นอนไม่หลับ มึนงง ตามัว มีเสียงในหู
ลักษณะลิ้น : ลิ้นแดง มีฝ้าบนลิ้น
ลักษณะชีพจร : ชีพจรเล็กเหมือนเส้นด้าย-เร็ว (Xi Su Mai 细数脉)
4.น้ำคั่งรบกวนหัวใจ
ลักษณะทางคลินิก : ใจสั่นเสมหะเป็นเมือกใส แน่นในอกและลิ้นปี่ อ่อนเพลีย แขน-ขาเย็น ในรายที่หยางของม้ามและไตพร่อง จะมีปัสสาวะน้อย กระหายน้ำแต่ไม่อยากดื่มน้ำ
ลักษณะลิ้น : ลิ้นมีฝ้าขาว-ลื่น ชีพจรลึก เร็ว
ลักษณะชีพจร : ชีพจร ลื่น ตึงเหมือนเส้นลวด (Xian Hua Mai 弦滑)
|
|
|
การบำบัดรักษาอาการใจสั่นทางแพทย์แผนจีน
1.การทานยาสมุนไพรจีนที่ผ่านกระบวนการผลิตปลอดภัย ไม่มีสารตกค้าง ตามแต่ละกลุ่มอาการและสาเหตุเช่น
- อาการใจสั่นตามกลุ่มอาการชี่และเลือดพร่อง ทานยาสมุนไพรจีนที่มีสรรพคุณในการบำรุงเลือด บำรุงชี่ บำรุงหัวใจสงบเสิน
- อาการใจสั่นตามกลุ่มอาการน้ำคั่งรบกวนหัวใจ ทานยาสมุนไพรจีนที่มีสรรพคุณในการอุ่นหยางและช่วยให้เสินสงบ ปรับการหมุนเวียนของน้ำ
2.การฝังเข็มตามแต่ละกลุ่มอาการ เพื่อปรับสมดุลร่างกายตามกลุ่มอาการ
- อาการใจสั่นตามกลุ่มอาการเสินไม่สงบ ทำการฝังเข็มตามจุดเส้นลมปราณที่มีสรรพคุณ สงบเสิน บำรุงหัวใจ
- อาการใจสั่นตามกลุ่มอาการอินพร่องแล้วทำให้เกิดไฟ ทำการฝังเข็มตามจุดเส้นลมปราณที่มีสรรพคุณ บำรุงอิน บำรุงหัวใจ
|
|
|
การนวดกดจุดบำรุงหัวใจด้วยตนเอง
1.จุดเน่ยกวน วิธีการหาจุด ใช้ 3 นิ้วทาบ จุดจะอยู่ตรงกลางระหว่างเอ็น 2 เส้น กดนวด 1-2 นาทีหรือมากกว่าได้
2.จุดเสินเหมิน อยู่บริเวณข้อมือ ด้านฝ่ามือ ฝั่งนิ้วก้อย กดนวดคลึง 1-2 นาทีหรือมากกว่าได้
3.จุดต้าหลิง อยู่ตรงกลางกระดูกข้อมือตรงรอยแอ่งบุ่ม กดนวดคลึง 1-2 นาที หรือมากกว่าก็ได้ |
|
|
สมุนไพรที่ช่วยบำรุงหัวใจ
1. กระชาย มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง แก้ใจสั่น นอกจากนี้รสเผ็ดร้อนขมยังช่วยขับปัสสาวะพิการ แก้บิด มูกเลือด แก้ปวดมวนท้อง ท้องเดินอีกด้วยโดยนำส่วนเหง้ามาตากแห้งบดละเอียดผสมกับน้ำผึ้ง ปั้นเป็นลูกกลอน กินแก้อาการ
2.กุหลาบ น้ำดอกแห้งมาชงเป็นชากุหลาบดื่ม รสเย็นหอมจากดอกกุหลาบจะช่วยบำรุงหัวใจและทำให้หัวใจชุ่มฉ่ำ นอกจากนี้น้ำมันหอมระเหยจากดอกกุหลาบยังช่วยบำรุงหัวใจบำรุงสมองให้สดชื่น แจ่มใส
3.พุทราจีน บำรุงหัวใจ บำรุงเลือด ช่วยให้นอนหลับ
4.โจ๊กลำไย สรรพคุณ บำรุงหัวใจ สงบจิต เกื้อกูลม้าม
เอา ข้าวแกบี้ (ข้าวสาร) 60 กรัม
พุทราจีน 5 ลูก
เนื้อลำใยแห้ง 15 กรัม
น้ำตาลทรายขาว 50 กรัม
วิธีทำ ซาวข้าวแกบี้ และล้างพุทราจีนให้สะอาด ใส่ลงในหม้อรวมกับเนื้อลำไย เติมน้ำ 3-4 ถ้วย แล้วตั้งไฟอ่อนต้มเป็นโจ๊ก เติมน้ำตาลลงไป เป็นอันใช้ได้ รับประทานวันละ 2 ครั้ง เช้า และเย็น |
|
|
คำแนะนำจากแพทย์แผนจีน
1. หลีกเลี่ยงความเครียดหรือความกังวล โดยวิธีผ่อนคลายต่าง ๆ เช่น บำบัดด้วยกลิ่น เล่นโยคะ ฝึกหายใจเข้าลึก ๆ หรือใช้ยารักษา
2.หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น ได้แก่ กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มชูกำลัง บุหรี่ หรือยาแก้หวัดบางชนิด
3.ออกกำลังกายสม่ำเสมอและรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง
4.หมั่นสังเกตตัวเองว่ารับประทานอาหารชนิดใดแล้วทำให้เกิดอาการก็ควรหลีกเลี่ยงอาหารชนิดนั้น
|
|
|
ข้อมูลประกอบบทความ
หนังสือการฝังเข็มรมยาเล่ม2 กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
กระทรวงสาธารณสุข
ISBN 978-616-11-0277-7
https://www.pobpad.com/ใจสั่น |
|
|
หมายเหตุ ผลการรักษาขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ความรุนแรงของโรค ระยะเวลาในการเป็น และปัจจัยอื่น ๆ |
|
|
|